วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

ปัญหาการทำแท้งในประเทศไทย

ปัญหาการทำแท้งในประเทศไทย


เมื่อเร็ว ๆ นี้มูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) ร่วมกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัด “เวทีนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาการทำแท้งในประเทศไทย” โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้สะท้อนมุมมองและข้อเท็จจริง อาทิ เครื่องมือการทำแท้งยังโบราณใช้เหล็กขูดอยู่ การเสนอให้ตั้งคลินิกปรับประจำเดือนในโรงพยาบาล รวมไปถึงการขึ้นทะเบียนยาทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย แต่ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ขอนำมาสรุปให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

ศ.เกียรติคุณ นพ.กำแหง จาตุรจินดา ประธานมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศ) กล่าวว่า กรณีพบซากของทารกที่ถูกทำแท้งจำนวน 2002 ซาก รวมทั้งข่าววัยรุ่นและผู้หญิงท้องไม่พร้อมไปลักลอบทำแท้งปรากฎให้เราเห็นอยู่เนือง ๆ สะท้อนว่า ผู้หญิงเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตอกย้ำว่าปัญหาการแท้งไม่ปลอดภัยถูกละเลยมานานยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบเพราะไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบ

ผู้หญิงที่ทำแท้งบ้างก็โชคดีที่ปลอดภัย แต่ 40% ต้องประสบปัญหาภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ต้องเสียค่ารักษาเฉลี่ยถึง 21,000 บาทต่อราย และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึง 300 ต่อ 100,000 ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัยในแต่ละปีสูงถึง 3,300 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นเงินเพียง 500-1,000 บาทต่อราย

“ผู้หญิงที่ตายจากการแท้งไม่ปลอดภัย ไม่ได้ตายจากโรคที่เรารักษาไม่ได้ แต่เธอเหล่านั้นตายเพราะสังคมไม่เห็นว่าชีวิตของเธอมีคุณค่าพอที่จะได้รับโอกาสและได้รับการดูแลรักษาที่ดี”

ในขณะที่คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการบริการด้านสุขภาพถ้วนหน้าโดยรัฐบาลให้สิทธิรักษาทุกโรค แต่ท้องไม่พร้อมยังไม่ได้รับการเหลียวแล ผู้หญิงไทยจำนวนมากยังคงต้องเสี่ยงตายและเจ็บจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย เพราะเธอเหล่านั้นเข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัย สังคมไม่ยอมรับรู้ปัญหา ไม่เข้าใจ และไม่ให้โอกาสผู้หญิงที่ผิดพลาด มองว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ผู้หญิงที่ทำแท้งและหมอที่ทำแท้งเป็นคนไม่ดี ปัญหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยจึงยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขลำดับต้น ๆ ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมยังคงถูกทอดทิ้งให้แก้ไขปัญหาเองลำพังและถูกสังคมประณาม ประจาน ดูหมิ่นเหยียดหยามแต่เพียงฝ่ายเดียว

กฎหมายไม่ได้หยุดยั้งการทำแท้ง แต่กฎหมายกลับทำให้มีการแท้งไม่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากจะท้องเพื่อที่จะทำแท้ง แต่ความจำเป็นบังคับให้ผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกที่จะทำแท้ง ในขณะที่ทางเลือกเดียวที่สังคมมักหยิบยื่นให้ผู้หญิงเหล่านั้นคือบังคับให้เลือก “ท้องต่อ” โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและความจำเป็นของผู้หญิงที่มีปัญหา แท้ที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงท้องไม่พร้อม มีปัญหาสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ถูกข่มขืน ถูกกระทำทางเพศ ทารกในครรภ์เสี่ยงต่อความพิการหรือมีโรคร้ายแรง สามารถยุติตั้งครรภ์ได้โดยแพทย์ สามารถทำได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิก แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัย

การยุติการตั้งครรภ์ในปัจจุบันทำได้ง่าย รวดเร็วและปลอดภัย การยุติการตั้งครรภ์จะปลอดภัยมากที่สุดต้องทำเมื่ออายุครรภ์น้อยที่สุด องค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์สูตินรีแพทย์นานาชาติแนะนำว่า วิธีการยุติการตั้งครรภ์ที่ดีที่สุดและปลอดภัยมากที่สุด คือ การใช้ยา 2 ชนิด ควรใช้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์จะมีประสิทธิภาพเกือบ 100% และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วใช้มานานกว่า 20 ปี ในกรณีที่ไม่มียาดังกล่าวใช้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้เครื่องดูดมดลูกมือถือแบบสุญญากาศแทนการขูดมดลูกที่แพทย์สมัยก่อนใช้กันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมดลูกทะลุและลดความเจ็บปวดจากการขูดมดลูกแต่ปัจจุบันมีโรงพยาบาลประมาณ 200-300 แห่งเท่านั้นที่ใช้เครื่องดูดมดลูก

ในโอกาสที่รัฐบาลไทยมีผู้นำเป็นสตรีและรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญต่อสิทธิและบทบาทของสตรี จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและสังคมไทยช่วยกันดูแลและให้โอกาสแก่สตรีที่ท้องไม่พร้อม และหากเธอเหล่านั้นเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ก็ควรมีสิทธิจะได้รับบริการที่ดี ปลอดภัย ทันสมัย มีมาตรฐานและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับการเข้าถึงบริการสุขภาพอื่น ๆ ด้วย
ด้าน ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความรู้สึกผิดมีมาตั้งแต่ต้นในจิตใจของผู้หญิงที่ตัดสินใจยุติ
การตั้งครรภ์ เราพบปัญหาความผิดปกติตามมาได้หลายกรณีจากการยุติการตั้งครรภ์ ทั้งทางด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์ เช่น เกิดภาวะซึมเศร้าจากความรู้สึกสูญเสีย พบอัตราความซึมเศร้า 30-67% แปรเปลี่ยนตามความผูกพันที่มีต่อลูกในครรภ์ ยิ่งมีอายุครรภ์มากยิ่งพบความผิดปกติได้ การทำแท้งแต่ละครั้งถือเป็นความเจ็บปวดของผู้หญิง ไม่เห็นว่าภายหลังการทำแท้งผู้หญิงจะมีความรู้สึกดีใจ หรือนำไปสู่การสำส่อนทางเพศดังที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่พบว่า 50% มีปัญหาซึมเศร้าภายหลังจากทำแท้ง และมีถึง 10% ที่ต้องมาพบจิตแพทย์ด้วยอาการผิดปกติทางจิต

แนวทางการแก้ไข คือ สังคมควรออกมาโอบอุ้มผู้หญิงเคราะห์ร้ายเหล่านี้มากกว่าซ้ำเติมมุมมองของนักกฎหมายที่มีอยู่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อเอื้อต่อการแก้ไขปัญหามากกว่าส่งเสริมปัญหาการทำแท้งเถื่อน นอกจากนี้รัฐบาลควรมุ่งส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องเพศศึกษา การคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี เปิดการบริการในส่วนเหล่านี้ให้มากขึ้น ให้เข้าถึงได้ง่าย มากกว่าตั้งรับในโรงพยาบาล.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น